กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน “บุหรี่ไฟฟ้า” อันตราย ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

   เมื่อ : 09 พ.ย. 2567

บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าเสพติดที่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชน สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้า แบบใช้ครั้งเดียว (single-use vapes ) ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น เกิดสารพิษตกค้าง และทำลายสิ่งแวดล้อม 
 

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ขยายตลาดในกลุ่มลูกค้ารายใหม่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กำลังทำให้ประเทศอังกฤษ เผชิญปัญหาขยะ จากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวถูกทิ้งเกลื่อนกลาด ก่อให้เกิดปัญหาปริมาณขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากบุหรี่ไฟฟ้าถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า 40 ตัน ทำให้สารโลหะหนักในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ตะกั่ว และปรอท รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อม เกิดการสะสมและปนเปื้อนในน้ำจนสร้างพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสัตว์ป่า เกิดสารพิษตกค้าง และทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหานี้รัฐบาลอังกฤษจึงออกกฎหมาย   ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 
 

นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากบทเรียนของประเทศอังกฤษ ที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้พบปัญหา ทั้งอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น และยังเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย  ในการป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงเป็นการปกป้องระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ของประเทศได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3850 เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า