กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวสถานบริการสุขภาพไทย ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี เนื่องในวันเอดส์โลกปี 2567 ภายใต้ธีม “Take The Rights Path”
วันนี้ (13 ธันวาคม 2567) ที่ประชุมอายุรกิจโกศล กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงเอกจิตรา สุขกุล รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล และนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวสถานบริการสุขภาพไทย ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี เนื่องในวันเอดส์โลกปี 2567 ภายใต้ธีม “Take The Rights Path”
หลังจากทศวรรษของการดำเนินงานของประเทศ ด้วยความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายยุติเอดส์ ภายในปี 2573 กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) ได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย (TNP ) คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) และผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติจาก RTI International University of California San Francisco (UCSF) ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US.CDC) องค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และกองทุนโลก (GFATM) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ร่วมมือกันดำเนินการ “ภารกิจร่วมเพื่อทบทวนการดำเนินงาน ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีในสถานบริการสุขภาพของประเทศไทย” โดยสังเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พูดคุยแลกเปลี่ยน และลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานขององค์กรในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ในระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม 2567 พบว่า ประเทศไทยมีหลักการดำเนินการลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติที่สำคัญ คือ หลักการ “System-Wide Approach” ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ และสามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์เอดส์โลก พ.ศ. 2565-2569 ด้านการลดตีตราและเลือกปฏิบัติ
ประเทศไทยยึดหลักให้บริการเอชไอวี ที่มีคุณภาพสูงและปราศจากการตีตรา เพื่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน และใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการยุติเอดส์ที่เป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขภายในปี พ.ศ. 2573 และเกิดความยั่งยืนในระบบสาธารณสุขของประเทศ ภายใต้สโลแกน “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” โดยขยายดำเนินงานการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มุ่งเป้าลดความกลัว สร้างความเข้าใจ เรื่อง U=U (Undetectable = Untransmittable) สร้างความตระหนักและทัศนคติที่ดี และลดการ ตีตราภายในอย่างเป็นระบบในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ โดยมีนโยบายที่ชัดเจนในทิศทางเดียวกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (Hospital Accreditation) การมีส่วนร่วมของชุมชน และสื่อสารต่อสังคม ซึ่งถือเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของประเทศไทย และเข้าสู่ก้าวที่ยั่งยืนเพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานที่ดีของนานาชาติได้โดยยกระดับการดำเนินงานด้วยการบูรณาการการเรียนรู้การเคารพสิทธิ ความเข้าใจเรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติ และความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา (pre-service training) และสถานบริการสุขภาพ (in-service training) ด้วยการเรียนแบบ participatory และ E-learning แบบผสมผสานอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่มีจุดเน้นการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและปราศจากการตีตราเป็น "ปัจจัยพื้นฐาน"
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า ประเทศไทยยึดหลักให้บริการด้านเอชไอวี ที่มีคุณภาพสูง และปราศจากการตีตรา เพื่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน พร้อมตั้งเป้าภายในปี 2568 ที่จะมุ่งลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติในประเทศ 5 ข้อสำคัญ ดังนี้ 1.ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มประชากรหลัก ในสถานพยาบาล ให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 2.ไม่มีกรณีบังคับทำหมันหรือยุติการตั้งครรภ์โดยไม่ได้รับความยินยอมในสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี 3. สถานพยาบาลและหน่วยบริการสุขภาพที่ดำเนินการโดยชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 80 ดำเนินมาตรการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอชไอวี การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และ/หรือความเท่าเทียม ทางเพศ 4.บุคลากรด้านสุขภาพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน อย่างน้อยร้อยละ 80 ได้รับการฝึกอบรมชุดมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ และ 5. ดำเนินงานโครงการเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิและการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติดำเนินการ โดยองค์กรชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 60
นอกจากนี้ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน ดังนี้ 1.การใช้ intersectionality lens (อัตลักษณ์ทับซ้อน) ในการวางแผนและออกแบบบริการและโปรแกรม ซึ่งแปลงเป็นการปฏิบัติด้วยการที่ Community-Led Health Services ต้องมีการผสาน Community-Led Human Rights and Gender Services (CL-HRGS) และทุกบริการของขุมชนต้องมีการเบิกจ่ายตรงมายังองค์กร 2.การปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลต่อสุขภาพและเอชไอวี และขจัดการเลือกปฏิบัติ 3.การมีเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติหรือ มูฟดิ (MovED) 4.การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ระหว่างชุมชนเครือข่าย และหน่วยบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
เน้นข้อเสนอแนะสำคัญ 3 ประการได้แก่ 1.การจะยุติการเลือกปฏิบัติได้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการทำงาน ในทุกภาคส่วนที่ 2 ต้องเน้นให้หน่วยงานภาครัฐมาร่วมกันขจัดการเลือกปฏิบัติในนามของ G-MovED Platform และ 3.ร่วมกันผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ เป็นกฎหมายกลางของประเทศไทยเพื่อป้องกันและจัดการการตีตราเลือกปฏิบัติให้หมดไป
ซึ่งข้อเสนอแนะจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปขับเคลื่อนนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายและเกิดความยั่งยืนในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศต่อไป