สรพ.จับมือ อบจ.ภูเก็ต ปั้นหน่วยบริการปฐมภูมิต้นแบบด้วย “มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ”

   เมื่อ : 13 ส.ค. 2567

สรพ. จับมือ อบจ.ภูเก็ต ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐานและบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ จังหวัดภูเก็ต หวังใช้ "มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ" นำร่องพัฒนาให้เกิดหน่วยบริการปฐมภูมิต้นแบบ และพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการบริหารภารกิจด้านสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐานและบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นผู้ร่วมลงนาม และ นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567  ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ อาคาร 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 

 

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสรพ. กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัดอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรและจัดบริการสุขภาพให้สอดคลองกับความต้องการในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ก็อาจมีความกังวลจากประชาชนบางส่วนว่าเมื่อ รพ.สต. ออกจากการกำกับของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว คุณภาพมาตรฐานการบริการจะเป็นอย่างไร สรพ. ในฐานะที่เป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล จึงได้พัฒนา "มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ" ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการกำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐาน รพ.สต. ที่ย้ายมาสังกัดกับท้องถิ่น เป็นหลักประกันให้ประชาชนว่าจะได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน และเป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล

“การลงนามความร่วมมือกันในวันนี้  ถือเป็นวันสำคัญของ “การพัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพแบบสากลด้วยวิถีคนภูเก็ต”  โดยใช้มาตรฐานสากลและกลไกการพัฒนาคุณภาพเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาเครือข่ายระบบบริการเพื่อประชาชนชาวภูเก็ต ตามนโยบาย การพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็น Safety city และ Healthy City เพื่อภูเก็ตเป็น Model ต้นแบบของระบบบริการสุขภาพ  โดยสรพ. ใช้การมีส่วนร่วมออกแบบกระบวนการตามวิถีคนภูเก็ต ร่วมกับการใช้ หลักคิด “รู้เรื่องเรา เข้าใจหลัก รักประชาชน” สำหรับบทบาทหน้าที่ของสรพ. จะทำหน้าที่ในการสื่อสารให้ความรู้กับบุคลากรของสถานพยาบาลปฐมภูมิที่สนใจเข้าสู่การพัฒนายกระดับเป็นสถานพยาบาลปฐมภูมิต้นแบบนำไปปฏิบัติ หรือเข้าสู่กระบวนการรับรองขั้นพัฒนาหรือขั้นมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ   และพัฒนาเครื่องมือ แนวทางหรือกลไกการพัฒนา กระบวนการรับรองการพัฒนา กระบวนการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพ การเยี่ยมสำรวจ รวมถึงผู้ประเมินการพัฒนาคุณภาพหรือผู้เยี่ยมสำรวจ เพื่อเตรียมการรับรองการพัฒนาและรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ  รวมถึงการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดหรือเผยแพร่องค์ความรู้และเสริมพลังให้กับบุคลากรของสถานพยาบาลปฐมภูมิและแกนนำการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิ  และสนับสนุนที่ปรึกษาในพื้นที่ หรือทีมวิทยากร องค์ความรู้ และหลักสูตรหรือแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และสถานพยาบาลปฐมภูมิ”  พญ.ปิยวรรณ กล่าว

 

ด้านนายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กล่าวว่า มาตรา 250 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในท้องถิ่นประกอบกับแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551  และแผนปฏิบัติ การกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) ด้านการถ่ายโอนภารกิจ กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาล ทั่วไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากอำเภอเมืองภูเก็ต กระทู้ ถลาง ทั้งสิ้นจำนวน 21 แห่ง ได้ถ่ายโอนมาสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ครบถ้วนแล้ว ในปี 2567 การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็น Safety City และ Healthy City ที่จะเป็นส่วนขับเคลื่อน ตามนโยบายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตที่จะพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยและทันสมัยด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามนโยบายดำเนินการของ อบจ.ใน 9 ด้าน เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีสุขภาพที่แข็งแรง นโยบายดังกล่าวจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทุกมิติของการพัฒนาเมืองภูเก็ต เพื่อให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในทุกด้าน

“องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านระบบบริการ ส่งเสริมป้องกันโรค การพัฒนาบุคลากร การใช้เทคโนโลยีในการบริการสาธารณสุข และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตให้มีสุขภาพดีและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ดีขึ้น ตามแนวทาง “การพัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพแบบสากลด้วยวิถีคนภูเก็ต” เพื่อประชาชนภูเก็ต และจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในโอกาสต่อไป” นายเรวัต กล่าว

ด้านนายแพทย์กู้ศักดิ์  กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวในฐานะพยานกิตติมศักดิ์ ว่า “ภูเก็ตเป็นเมืองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้า การแพทย์และสาธารณสุขชั้นนำภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย” โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานสุขภาพระดับปฐมภูมิโดยใช้มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิและกลไกการพัฒนาคุณภาพเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาเครือข่ายระบบบริการ (Healthcare network) อย่างมีส่วนร่วม กระผมจึงรู้สึกชื่นชมยินดีอย่างยิ่งในความตั้งใจของทั้ง 2 หน่วยงาน  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินงานสนับสนุนเป้าหมายของภูเก็ตที่เป็นเมืองที่มี วิสัยทัศน์ ภูเก็ตเมืองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้า การแพทย์และสาธารณสุขชั้นนำภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ภูเก็ตสามารถบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ค่านิยม PHUKET ที่มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนทุกคน

 

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ตเพื่อประชาชนชาวภูเก็ต ร่วมกันพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิโดยใช้มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิและกลไกการพัฒนาคุณภาพเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาเครือข่ายระบบบริการอย่างมีส่วนร่วม เป็นการ “พัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพแบบสากลด้วยวิถีคนภูเก็ต” ตามนโยบาย การพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็น Phuket Safety city และ Healthy City เพื่อประชาชนชาวภูเก็ต และเป็น Model ต้นแบบของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ของประเทศไทย ดังที่ทุกฝ่ายตั้งเป้าไว้ต่อไป” นายแพทย์กู้ศักดิ์ กล่าว 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ