วช. มอบนวัตกรรม “ยางสู่การใช้ประโยชน์ครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืน” ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 67
วันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมยางสู่การใช้ประโยชน์ครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืน โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีพร้อมส่งมอบนวัตกรรมให้กับตัวแทนผู้รับมอบนวัตกรรมยางทั้งสามหน่วยในวันนี้ โดย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 ได้เป็นผู้กล่าวรายงานดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ เวทีกิจกรรม Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยประเทศไทยได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์และทางสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างรวมทั้งช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพซึ่งการนำผลงานวิจัยด้านยางพาราไปใช้ประโยชน์นั้น เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยางพาราภายในประเทศ เพื่อการสร้างรายได้แก่อุตสาหกรรมยางพาราที่ครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำสู่การใช้ประโยชน์อย่างครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืน
โดยได้ส่งมอบนวัตกรรมยางที่มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 3 นวัตกรรม ได้แก่
1. ห้องปฏิบัติการทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาง RPM KU ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 สำหรับทดสอบน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ยางฟองน้ำ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา ผลงานวิจัย โดย รศ.ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา ทั้งนี้ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา เป็นผู้รับมอบนวัตกรรม
2. เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาตินวัตกรรมภายใต้การดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง นวัตกรรมเสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางคมนาคมทางบก ผลงานวิจัย โดย ศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับมอบนวัตกรรม
3. แผ่นยางปูทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ นวัตกรรม ภายใต้การดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่อง แผ่นยางปูทางผ่านเสมอทางรถไฟจากยางพารา ผลงานวิจัย โดย รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด สังกัด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับมอบนวัตกรรม
ทั้งนี้ พิธีส่งมอบนวัตกรรมยางสู่การใช้ประโยชน์ครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืนในวันนี้ คือผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช. และเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยาง และส่งเสริมการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม