สศท.10 ติดตามสถานการณ์การผลิต “ถั่วลิสง” พืชทางเลือกที่มีศักยภาพ จ.เพชรบุรี ตลาดมีความต้องการ         

   เมื่อ : 23 ส.ค. 2567

นางสาวรัชนี นาคบุตร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตถั่วลิสง รุ่น 1 และรุ่น 2 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคตะวันตก โดยปีเพาะปลูก 2566/67 (ข้อมูล ณ 22 สิงหาคม 2567) มีพื้นที่ปลูกรวม 530 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14 เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เกษตรกรจึงลดพื้นที่ปลูกถั่วลิสงลง ผลผลิตรวมถั่วลิสงทั้งเปลือก 218 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 411 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ต้นถั่วลิสงไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

 

สำหรับการปลูกถั่วลิสงในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พบว่า พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเขาย้อยและอำเภอบ้านลาดซึ่งเกษตรกรใช้น้ำจากสระน้ำของตนเองและน้ำฝนเป็นหลัก มีแหล่งรับซื้ออยู่ในพื้นที่ และเกษตรกรมีความชำนาญในการปลูก โดยในแต่ละปีเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกถั่วลิสง 2 รุ่น คือ ถั่วลิสง รุ่น 1 (ฤดูฝน) ปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคมของปีเดียวกัน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคมของปีเดียวกัน และถั่วลิสง รุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายนของปีถัดไป เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90 - 100 วัน สำหรับในปีเพาะปลูก 2567/68 เกษตรกรในพื้นที่ได้เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลิสง รุ่น 1 (ฤดูฝน) 

ด้านราคาขายถั่วลิสงสดทั้งเปลือกของจังหวัดเพชรบุรี ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 24 - 25 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เกษตรกรจะจำหน่ายให้กับโรงต้มถั่วลิสงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง และผลผลิตส่วนที่เหลือ ร้อยละ 5 เก็บไว้ทำพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตถั่วลิสงในพื้นที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโรงต้มถั่วลิสง จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่เกษตรกรในพื้นที่จะหันมาปลูกถั่วลิสง เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

 

ถั่วลิสงนับเป็นพืชทางเลือกที่มีศักยภาพที่มีโอกาสทางการตลาด เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยมีความต้องการใช้ถั่วลิสงอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มศักยภาพการผลิตจึงนับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานสถานีพัฒนาที่ดิน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ กรณีสินค้าถั่วลิสง โดยการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ถั่วลิสงที่เหมาะสมกับพื้นที่ การจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงคุณภาพดีและกระจายเมล็ดพันธุ์เพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตของเกษตรกรสร้างความยั่งยืนในชุมชน รวมถึงการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ ในส่วนของ สศท.10 ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีศักยภาพ กรณีสินค้า ถั่วลิสง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรทางเลือกให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของตลาด หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตถั่วลิสงของจังหวัดเพชรบุรีและแนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีศักยภาพ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 จังหวัดราชบุรี โทร 0 3233 7951 อีเมล zone10@oae.go.th

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ