พม. มอบรางวัล “ประชาบดี” ปี 2567 ชูบุคคล - องค์กร - สื่อ ต้นแบบของสังคมผู้อุทิศตนเพื่อส่วนรวม
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “ประชาบดี” ประจำปี 2567 แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นแก่ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากที่ประพฤติตนดีเด่น พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่บุคคล องค์กร และสื่อที่เข้ารับรางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจ และเป็นการส่งเสริมเจตคติเชิงบวกแก่ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงและมีความสุข โดยมี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 3 ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร
นายอนุกูล กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า 16 ปี กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้จัดพิธีมอบรางวัล “ประชาบดี” มาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้ทำความดีอุทิศตนเพื่อสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่นำต้นแบบมาจาก “พระประชาบดี” เทพผู้เป็นที่พึ่งช่วยสงเคราะห์ประชาชน ด้วยพลังแห่งการให้และแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากสภาวะยากลำบาก ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ได้รับรางวัล “ประชาบดี” แล้วกว่า 1055 คน
สำหรับการมอบรางวัล “ประชาบดี” ประจำปี 2567 นี้ มีผู้ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 45 ราย แบ่งออกเป็น 4 ประเภทรางวัล ดังนี้ 1) ประเภทบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ จำนวน 12 ราย อาทิ 1.1) นางกัลยา บางจั่น อาสาสมัครผู้อุทิศตนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมอย่างสุดความสามารถมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 16 ปี 1.2) นายธีระวัฒน์ พิทักษ์ไพรศรี ผู้ที่เคยมีชีวิตยากลำบาก แต่ได้รับโอกาสจากกระทรวง พม. จนมีชีวิตที่ดีขึ้น และจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาแม่น้ำคำขึ้นเพื่อช่วยเหลือและแบ่งปันโอกาสแก่พี่น้องราษฎรบนพื้นที่สูง และ 1.3) พลตำรวจเอก วุฒิ ลิปตพัลลภ ช่วยเหลือสังคมผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา สละทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อส่งเสริมสนับสนุนเด็กผู้ด้อยโอกาสในชุมชนผู้เป็นอนาคตของชาติ 2) ประเภทองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ จำนวน 9 ราย อาทิ 2.1) สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกุ่มสะแก พัฒนาระบบ K-S-P-RUN (พันธมิตรกุ่มสะแก ก้าวไปด้วยกัน) โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการช่วยเหลือผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว 2.2) เทศบาลตำบลสมเด็จ ช่วยเหลือประชาชนทุกคนทุกวัยทุกสถานะทางสังคมให้เข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และ 2.3) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลให้มีโอกาสศึกษาฝึกอาชีพในสถานประกอบการ นายอนุกูล กล่าว
นายอนุกูล กล่าวต่ออีกว่า 3) ประเภทสื่อสร้างสรรค์ จำนวน 15 ราย อาทิ 3.1) รายการ “Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS” นำเสนอข่าวสะท้อนประเด็นปัญหาสังคมและร่วมวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาให้กระจ่างชัดสังคม 3.2) รายการเก่งจริงชิงค่าเทอม ถ่ายทอดและมอบโอกาสแก่เด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และเป็นตัวอย่างที่ดีในการช่วยเหลือครอบครัว โดยเป็นกระบอกเสียงให้เยาวชนหันมาใส่ใจการศึกษา รักครอบครัว และเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม และ 3.3) รายการธรรมะสัญจร นำเสนอให้เห็นความเป็นอยู่ขอผู้ประสบปัญหา พร้อมให้ข้อคิด เทศนาธรรม สร้างกำลังใจ และประชาสัมพันธ์ช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4) ประเภทต้นแบบคนสู้ชีวิต จำนวน 9 ราย อาทิ 4.1) นางอรัญวา ชาวพนาไพร สตรีชาติพันธุ์ชาว “มละบริ” คนแรกของโลกที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และนำความรู้มาพัฒนาเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้พี่น้องชาติพันธุ์ให้ความสำคัญต่อการศึกษา 4.2) นางสาวเกษร กันกะเสน คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำทุกวิถีทางเพื่อดูแลลูกชายป่วยจิตเวชอย่างสุดความสามารถ อีกทั้งยังโอบอ้อมอารีรับอุปการะผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งและเจ็บป่วยมาอยู่ในความดูแลด้วยกำลังของตน และ 4.3) นางพนิดา ถวิลไพร ผู้เคยหลงผิดและกลับตัวกลับใจมีชีวิตใหม่อีกครั้ง และมุ่งมั่นอุทิศตนช่วยเหลือลูกของผู้ต้องขัง เด็กที่โดนกระทำความรุนแรงจากครอบครัว ร่วมกับมูลนิธิบ้านพระพร
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของกระทรวง พม. ขอแสดงความยินดีและยกย่องเชิดชูเกียรติกับทุกท่านและทุกองค์กรที่ได้รับรางวัลในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลดังกล่าวจะเป็นกำลังใจ ขยายผลให้ทุกคนในสังคมรับรู้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทำความดีและเป็นแรงผลักดันให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้า กระทรวง พม. หรือภาครัฐไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้เพียงลำพัง ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและช่วยเหลือคนทุกเพศทุกวัย เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันอย่างยั่งยืนต่อไป