โก โฮลเซลล์ สนับสนุนประมงพื้นบ้าน ขนทัพ “กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต” ว่ายข้ามทะเลอันดามัน ดันวัตถุดิบท้องถิ่นสู่ร้านอาหารทั่วไทย

   เมื่อ : 19 ส.ค. 2567

ในบรรดาวัตถุดิบอาหารทะเลขึ้นชื่อของไทยที่คนทำอาหารนึกถึง  หนึ่งในนั้นต้องมี “กุ้งมังกรเจ็ดสีภูเก็ต” หรือ “Phuket Lobster” ที่ถือเป็นของดีประจำจังหวัดภูเก็ต ไอเท็มที่เชฟทั่วไทยและทั่วโลกตามหา

 

แม้จะมีราคาสูง แต่ด้วยรสชาติและเนื้อสัมผัสที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ได้รับการกล่าวถึงและถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหลักในจานอาหารระดับโลก จนมีความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดอาหารทะเล โดย “โก โฮลเซลล์” (GO Wholesale) ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบอาหาร ทางเลือกใหม่เพื่อผู้ประกอบการ ได้นำกุ้งมังกรเจ็ดสีภูเก็ต แบบเป็นๆ จากชาวประมงพื้นบ้านเกาะยาว มาแวกว่ายในตู้อควาเรียม แผนกอาหารสด ทุกสาขาทั่วประเทศ ให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร และพลพรรคนักปรุงได้เลือกสรร

 

กว่าจะได้กุ้งมังกรเจ็ดสีอย่างที่เราเห็นนั้น ไม่ง่าย ชาวประมงพื้นบ้านจะใช้การเพาะเลี้ยงแบบดั้งเดิม ผ่านการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เลี้ยงในกระชังท่ามกลางทะเลสีครามเป็นเวลานาน กว่าจะได้ขนาดที่ต้องการ

 

“ชาวบ้านจะเริ่มจากการออกไปจับกุ้งมังกรตัวเล็กที่เป็นลูกพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติกลางทะเล แล้วเอามาเพาะเลี้ยงในกระชังที่อยู่กลางทะเล ซึ่งเป็นน่านน้ำของจังหวัดภูเก็ต โดยชาวประมงจะคอยให้อาหารที่เป็นปลาตัวเล็กๆ และเฝ้าเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ด้วยวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวเกาะยาว พอกุ้งโตได้ขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 7-8 ขีด ก็จะนำออกมาขาย เพราะเป็นขนาดที่ร้านอาหารต้องการ เมื่อนำมาจัดวางในจานจะมีขนาดที่พอดีและสวยงาม” วา-กรรณิกา สาลี ตัวแทนหมู่บ้านชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะยาว บอกเล่า

และบอกอีกว่า ลักษณะเด่นชัดของกุ้งมังกรเจ็ดสีภูเก็ต แตกต่างจากกุ้งมังกรสายพันธุ์อื่น คือ ส่วนหัวมีสีเหลือง ลำตัวสีเขียวใส โคนหนวดสีชมพู มีแถบสีขาวและดำพาดขวางลำตัว ขอบท้ายของปล้องท้องมีลายสีครีม หนวดของกุ้งมังกรดังกล่าวเรียวยาวและไม่มีก้ามปล้อง ท้องเรียบไม่มีร่องขวางกลาง หางมีลักษณะแผ่เป็นหางพัด มีกระดองบาง ทำให้มีเนื้อกุ้งเยอะกว่าสายพันธุ์อื่น

 

สำหรับรสชาติของเนื้อกุ้งได้รับการยอมรับในระดับสากล โดดเด่นในด้านความแน่น หวาน เคี้ยวแล้วเนื้อนุ่มเด้งไม่ยุ่ยเละ มีประโยชน์ทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ ที่สำคัญต่อร่างกาย นิยมทั้งกินสดแบบ ซาซิมิ หรือนำไป ย่าง อบ ทอด ได้หลากหลาย โดยข้อมูลจากประมงจังหวัดภูเก็ต ปี 2566 สามารถผลิตกุ้งมังกรเจ็ดสีได้ราว 6.6 ตัน

 

โก โฮลเซลล์ เล็งเห็นความสำคัญสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และการเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสีภูเก็ตที่เป็นประมงพื้นบ้านดั้งเดิม จึงได้ให้การสนับสนุนด้วยการรับซื้อมาจำหน่ายในทุกสาขา  ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางขาย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย แถมยังทำให้ผู้ประกอบการและลูกค้าทุกคนได้เข้าถึงวัตถุดิบที่ดี เด่น ดัง ของภูเก็ตได้อีกด้วย

 

พบกุ้งมังกรเจ็ดสีภูเก็ตตัวเป็นๆ ได้แล้ววันนี้ ที่ตู้อควาเรียม แผนกอาหารสด โก โฮลเซลล์ ทั้ง 8 สาขา ศรีนครินทร์ เชียงใหม่ อมตะชลบุรี พัทยาใต้ พระราม 2 รังสิต รามคำแหง ราไวย์ และสาขาที่ 9 สาขาเมืองภูเก็ต ที่กำลังจะเปิดในเร็วๆ นี้