เลขาธิการ คปภ. เปิดโรดแมป 2568 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ตั้งเป้าดันเบี้ยประกันทะลุ 1 ล้านล้านบาทในปี 2569

กรุงเทพฯ 3 กุมภาพันธ์ 2568 – นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวประกาศนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2568 ณ อาคารรับรองเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังสาระสำคัญของแผนงานและทิศทางการดำเนินงาน พร้อมเปิดโรดแมปการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้เติบโตสู่เป้าหมายเบี้ยประกันภัยรวม 1,000,000 ล้านบาท ภายในปี 2569
นายชูฉัตร เปิดเผยว่า นโยบายและทิศทางของสำนักงาน คปภ. ในปี 2568 จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย โดยแบ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ประชาชน 2) ธุรกิจประกันภัย และ 3) การพัฒนาองค์กร คปภ. เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาทั้งระบบ โดยเน้นการสร้างความมั่นคง ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ
สำหรับส่วนที่ 1. ด้านประชาชน: ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิและเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการประกันภัย
สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบประกันภัยให้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างเป็นธรรม โดยมีแผนปรับปรุงการกำกับดูแลด้านต่าง ๆ ได้แก่
• การลดข้อพิพาทเรื่องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุด โดย คปภ. จะกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถให้เป็นจำนวนเงินที่ชัดเจน แทนการกำหนดเป็นขั้นต่ำ และบรรจุเงื่อนไขการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ในกรมธรรม์ให้สามารถเรียกจากบริษัทประกันภัยของฝ่ายถูกได้ทันที นอกจากนี้ สำหรับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 จะกำหนดให้ใช้หลักการ "Knock for Knock" เพื่อลดปัญหาข้อพิพาท
• การทบทวนอัตราเบี้ยประกันภัยและความคุ้มครองของประกันภัยรถภาคบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน และส่งเสริมการซื้อกรมธรรม์ผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการออก e-Policy เพื่อลดภาระเอกสารและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน
• การส่งเสริมมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนน คปภ. จะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มโครงการนำร่องที่จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น
• การพัฒนาระบบ OIC Gateway และแอปพลิเคชันทางรัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านประกันภัยได้สะดวกขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมขับขี่เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์กำหนดส่วนลดเบี้ยประกันภัยในอนาคต
• โครงการ Insurefluencer the New Gen 2025 ที่มุ่งส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยในโรงเรียนและสถานศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่เยาวชน
ส่วนที่ 2. ด้านธุรกิจประกันภัย: ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแล เพิ่มเสถียรภาพและความยั่งยืน
สำนักงาน คปภ. จะดำเนินมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจประกันภัย โดยปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานการกำกับดูแล ดังนี้
• การกำกับดูแลแบบกลุ่ม (Group-Wide Supervision) เพื่อให้การกำกับบริษัทประกันภัยครอบคลุมไปถึงบริษัทแม่ บริษัทในเครือ และบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามมาตรฐานสากล
• การปรับปรุงเกณฑ์เงินกองทุนของบริษัทประกันภัย เช่น การคำนวณเงินสำรอง UPR ใหม่ และการพิจารณาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อให้บริษัทมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น
• การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ประกันสุขภาพภาคเอกชน โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น
• การส่งเสริม Open Insurance และ Open Data เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประกันภัยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
• การกำหนดแนวทางการกำกับดูแล AI (AI Governance Guideline) สำหรับธุรกิจประกันภัย เพื่อรองรับการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
• การผลักดันประเทศไทยให้เป็น Insurance Hub ของอาเซียน โดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยและการพัฒนาองค์ความรู้
ส่วนที่ 3. ด้านการพัฒนาองค์กร คปภ.: มุ่งสู่ AI-Driven Organization
สำนักงาน คปภ. มุ่งพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยปรับกระบวนการทำงานและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารองค์กร เช่น
- การปรับโครงสร้างการทำงานแบบ Team-Based และ Project-Based เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากขึ้น
- การใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลด้านประกันภัย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการกำกับดูแล
- การกำหนดเป้าหมายการทำงานแบบ OKRs (Objectives and Key Results) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร
- การสื่อสารเชิงรุกกับประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย
สร้างอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้มั่นคงและยั่งยืน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า หัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. คือ การทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างความร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล ตัวแทนประกันภัย และสื่อมวลชนทุกช่องทางเพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร แนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ออกสู่สาธารณชนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยไทย