IBERD จับมือผู้บริหารชิซุโอะกะและ JPHRI ดัน Wellness Tourism ยกระดับน้ำพุร้อนญี่ปุ่น สร้างเศรษฐกิจชุมชน

   เมื่อ : 30 ม.ค. 2568

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (Institute of Business Economics Research and development : IBERD) ร่วมให้การต้อนรับและเลี้ยงรับรอง คณะผู้แทนจากสภาจังหวัดและเจ้าหน้าที่รัฐบาลจังหวัดชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 พร้อมพบปะหารือแนวทางความร่วมมือการพัฒนาการท่องเที่ยวน้ำพุร้อน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) (เมื่อ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ) ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กับสถาบันสุขภาพและวิจัยของประเทศญี่ปุ่น (Japan Health and Research Institute : JPHRI) ในการส่งเสริมการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านสุขภาพ (Health and wellness) กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานด้านการพัฒนาโครงการน้ำพุร้อน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เปิดเผยว่า การเดินทางมาประเทศไทยของคณะจังหวัดชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น นำโดย JPHRI  ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2  เป็นความมุ่งมั่นจริงจังในการที่จะขับเคลื่อนงานการสร้างเครือข่าย การแสวงหาความร่วมมือด้านต่างๆ การพัฒนาการท่องเที่ยวน้ำพุร้อน และเศรษฐกิจเวลเนส อย่างเป็นรูปธรรม  โดยมีขอบเขตความร่วมมือที่มุ่งเน้นประโยชน์จากการศึกษาแลกเปลี่ยนงานวิจัย งานวิชาการ แนวทางส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำพุร้อนสาธารณะ (Public Bath) เป็นลำดับแรก เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้สร้างเศรษฐกิจของชุมชนในแหล่งน้ำพุร้อนของไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (Wellness Tourism)  

โอกาสนี้  ผู้บริหารและคณะเจ้าหน้าที่จาก สถาบัน IBERD นำโดยนางนที ชวนสนิท รองประธานกรรมการสถาบัน IBERD พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือ กับ นายอัสสึยูกิ ราชิ ประธานสมาคมรัฐสภาด้านการส่งเสริมสุขภาพที่ดีด้วยการอาบน้ำร้อนญี่ปุ่น ร่วมกับคณะผู้บริหารภาคราชการ จังหวัดชิซูโอกะ นำโดยนายโยชิกาซู ทากาฮาชิ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการวิจัยและพัฒนา กรมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม  รวมถึง ดร.ยาซูอากิ โกโต นักวิจัยของสถาบันสุขภาพและวิจัยของประเทศญี่ปุ่น (Japan Health and Research Institute : JPHRI)  เพื่อหารือถึงแนวทางการการขับเคลื่อนงานการสร้างเครือข่าย และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ น้ำพุร้อน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจเวลเนส ในการเชื่อมโยงความร่วมมืองานวิจัยนวัตกรรม ด้านสุขภาพ (Health and wellness) ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ตามโครงการนำร่องและแผนงานในปี 2568 -69   ให้เป็นรูปธรรม  เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย

นางนที ชวนสนิท รองประธานกรรมการสถาบัน IBERD เปิดเผยว่า ผลจาการหารือ ประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายอย่างดี  ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือไทย - ญี่ปุ่น นี้  ได้ริเริ่มโครงการนำร่องความร่วมมือที่สำคัญ ใน  2  โครงการ   คือ  1) การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำพุร้อนสาธารณะ (Public Bath) และ  2) การสร้างสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (Sister City)  โดยกำหนดเส้นทางน้ำพุร้อนธรรมชาติของไทย   3   เส้นทางหลัก ได้แก่  1.เส้นทางอันดามัน (ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนองและสตูล) 2.เส้นทางสงกรานต์ (เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน) และ 3. เส้นทางประวัติศาสตร์ ( เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี) จับคู่กับจังหวัดของญี่ปุ่น อาทิ Shizuoka Prefecture Beppu City in Oita  Prefecture และ Gumma Prefecture ตามลำดับ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ (Health & Wellness Industry) ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 เป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตามมาตรฐานสากล

โดยแผนงานสำคัญ คือ การศึกษาวิจัยนวัตกรรมร่วมกัน รวมถึงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและสุขภาวะ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ ธุรกิจออนเซนน้ำพุร้อนธรรมชาติ การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยระบบออนเซนน้ำพุร้อน (Onsen Hot Spring Wellness Tourism Industry) รวมถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ด้านการนวดไทย อาหารไทย สมุนไพรไทย เพื่อรองรับการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ทั้งของประเทศญี่ปุ่น และไทย