คปภ. เร่งให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีรถเก๋งเฉี่ยวชน “เจ้าหน้าที่ตำรวจ-นักเรียน– ผู้ปกครอง” จังหวัดนครราชสีมา

   เมื่อ : 26 ธ.ค. 2567

จากกรณีรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขง 2408 นครราชสีมา เฉี่ยวชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักเรียน ผู้ปกครอง และพุ่งชนกำแพงโรงเรียน บริเวณหน้าโรงเรียนดอนขวาง ถนนเพชรมาตุคลา ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 9 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 
 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุได้ตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติเหตุกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งลงพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม   

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน 
ขง 2408 นครราชสีมา จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 และบริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500000 บาท ต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200000 - 500000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน 

นอกจากนี้ รถยนต์คันเกิดเหตุ ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับบริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 โดยกรมธรรม์ให้คุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก 1000000 บาทต่อคน 10000000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก 5000000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อรถยนต์ 350000 บาท รถยนต์สูญหาย/ไฟไหม้ 350000 บาท สำหรับความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ร.ย.01) ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 6 คน ๆ ละ 100000 บาท และค่ารักษาพยาบาล (ร.ย. 02) จำนวน 100000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ (ร.ย. 03) 200000 บาทต่อครั้ง

ในส่วนของนักเรียนตรวจสอบพบว่ามีกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มทำไว้กับบริษัท สยามสไมล์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาการรับฟัง การพูดออกเสียง หรือทุพพลภาพถาวร (อบ.2) 50000 บาท ค่ารักษาพยาบาลต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง 5000 บาท ค่าปลงศพหรือค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพ กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย 10000 บาท ค่าชดเชยการบาดเจ็บที่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม เนื่องจากอุบัติเหตุ (ผู้ป่วยนอก) (ชดเชยรายวัน สูงสุดไม่เกิน 100 ครั้งต่อปีกรมธรรม์) สำหรับโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม (คลินิก) (ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง) 300 บาท สำหรับสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง) 100 บาท ค่าชดเชยกรณีเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม เนื่องจากการเจ็บป่วย (ชดเชยรายวัน สูงสุดไม่เกิน 100 วันต่อปีกรมธรรม์) วันละ 500 บาท และความคุ้มครองอุบัติเหตุกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อการศึกษา (ต่อคน) 500000 บาท 

สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ขณะนี้ผลคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยเบื้องต้นทายาทโดยธรรมของผู้ประสบอุบัติเหตุที่เสียชีวิต จำนวน 1 ราย และผู้บาดเจ็บ จำนวน 9 ราย จะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้ 1. ผู้เสียชีวิต มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 2 กรมธรรม์ ๆ ละ 500000 บาท รวมเป็น 1000000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กรณีความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก 1000000 บาท รวมเป็นเงินที่ทายาทจะได้รับรายละ 2000000 บาท 2. ผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา โรงพยาบาล ป.แพทย์ 2 และโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาตามสิทธิแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานงานกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามสไมล์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อรวบรวมเอกสารและอำนวยความสะดวกเพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็วแล้ว ซึ่งขณะนี้รอทายาทโดยธรรมจัดเตรียมเอกสารให้แก่บริษัทประกันภัย
    

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกับสมาคมประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้ประสบภัยหรือผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้มีการทำประกันภัยเพิ่มเติมนอกจากนี้อีกหรือไม่ หากตรวจสอบพบว่ามีการทำประกันภัยก็จะได้รับสิทธิตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ