ธ.ก.ส. ชวนชอปสินค้าเกรด Triple A จาก 9 ชุมชน การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศทุกภูมิภาคที่งานประกาศรางวัลสุดยอดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ปี 2567

   เมื่อ : 12 ธ.ค. 2567

ธ.ก.ส. นำสุดยอดผลิตภัณฑ์เกรด Triple A ส่งตรงจาก 9 ชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ผ่านการคัดสรรเป็นอย่างดี การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงการชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคของ ธ.ก.ส. มาให้เลือกซื้อเพื่อเป็นของขวัญให้กับคนพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 พร้อมประกาศผลการเฟ้นหา 3 ชุมชน ที่จะได้ครอบครองรางวัล “สุดยอดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ปี 2567” รับเงินรางวัลมูลค่ารวม 220000 บาท ตั้งเป้าปี 2568 ขยายฐานชุมชนอุดมสุขเพิ่มอีก 181 ชุมชน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานราก

 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการคุณภาพดีจากชุมชนลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาชุมชน สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ธ.ก.ส. จึงได้จัดการประกวด “ชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ปี 2567” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยนำชุมชนอุดมสุขที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการจัดประกวดระดับภูมิภาค 9 ชุมชน จาก 9 ฝ่ายกิจการสาขาภาคของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ มาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เกรด Triple A ให้กับผู้ที่สนใจได้เลือกซื้อเป็นของขวัญให้กับคนพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 ระหว่างเวลา 8.00 – 13.00 น. ที่บริเวณโถงชั้น 2 อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่

 

สำหรับชุมชนที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้นำสินค้าเด่นเกรด Triple A และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว หาซื้อไม่ได้จาก ที่อื่น มาจัดจำหน่ายในงานนี้เท่านั้น ประกอบด้วย 1) ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา จ.น่าน นำสมุนไพรในชุมชนมาแปรรูปเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ สบู่เหลว ครีมน้ำนมข้าว ครีมบำรุงผิว แชมพูและครีมนวดใบหมี่อัญชันขิง 2) ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย ผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และโฮมสเตย์พร้อมโปรแกรมท่องเที่ยววิถีชุมชน 3) ชุมชนบ้านถ้ำติ้ว จ.สกลนคร ผู้ผลิตชาสามเกลอ น้ำบักเม่าคั้นสด เครื่องจักสานไม้ไผ่ อาทิ ตะกร้า และกระเป๋าถือ 4) ชุมชนบ้านโคกเมือง จ.บุรีรัมย์ จัดทำผ้าหมักโคลนบารายพันปี ผ้าไหมลายผักกูด กุ้งจ๋อมผัด และข้าวหอมมะลิภูเขาไฟ 5) ชุมชนบ้านโคกสลุง จ.ลพบุรี ผลิตผ้าพันคอ ย่าม ผ้าขาวม้าจากผ้าฝ้ายและเสื้ออีหิ้วผ้าทอ 6) ชุมชนบ้านมาบเหียง จ.ปราจีนบุรี มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้วขมิ้น มะม่วงแปรรูป และน้ำผึ้งเกสรมะม่วง 7) ชุมชนบ้านหัวอ่าว จ.นครปฐม ชุมชนที่ปลูกและจำหน่ายฝรั่งผลสด พร้อมกับนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นฝรั่งอบกรอบ และไวน์ฝรั่ง 8) ชุมชนบ้านบางนุ จ.พังงา ผู้ผลิตหมอนหลอดเพื่อสุขภาพ ข้าวไร่ดอกข่า ขนมชมดาว ขนมพริก และกระเป๋าปาเต๊ะ 9) ชุมชนบ้านควนสวรรค์ จ.ตรัง ผู้ผลิตผ้าทอนาหมื่นศรีที่นำไปทำเป็นผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ รวมถึงกระเป๋า และลูกหยีแปรรูป เป็นต้น

ในการเฟ้นหาชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ปี 2567 ของ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้จัดขึ้น ภายใต้สโลแกน “กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี ทุนมี หนี้ลด หมดทุกข์” โดยการคัดเลือกชุมชนที่ชนะเลิศ 3 จาก 9 ชุมชนข้างต้น ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์มูลค่ารวม 220000 บาท แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศรับเงินสนับสนุน 100000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เงินสนับสนุน 70000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 รับเงินสนับสนุน มูลค่า 50000 บาท ซึ่งการตัดสินรางวัล ธ.ก.ส. จะใช้เกณฑ์ในการพิจารณาหลายมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและประเพณี สิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ การพัฒนาอาชีพ และด้านการตลาด เพื่อให้ได้ชุมชนต้นแบบที่สามารถดำเนินกิจกรรมและจัดทำแผนธุรกิจตามแนวทาง BCG Model มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาด้านการตลาด และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นแกนกลางทางการเกษตรตามเป้าหมายของ ธ.ก.ส. ซึ่งการประกวดครั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน นำโดยนางสาวลดาวัลย์ คำภา ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการตัดสิน นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และกรมการพัฒนาชุมชน (พช.)

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 ธ.ก.ส. ได้ยกระดับชุมชนอุดมสุข จำนวน 181 ชุมชนทั่วประเทศ ที่มีการจัดทำแผนธุรกิจและขับเคลื่อนการทำเกษตรสมัยใหม่ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบองค์รวม (BCG Model) โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 30 คิดเป็นเงินกว่า 214 ล้านบาท อัตรา การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมชุมชน (GCP) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 13 และความสุขมวลรวมของชุมชนอยู่ในระดับมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 4.63 ส่วนในปี 2567 ธ.ก.ส. ยังได้ตั้งเป้าหมายในการยกระดับชุมชนอุดมสุขทั่วประเทศให้ได้อีก ไม่น้อยกว่า 181 ชุมชน