ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองจีดีพีปี 2568 โตช้าลงมาที่ 2.4% ตามแรงส่งท่องเที่ยวและส่งออกที่ลดลง
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การกลับมาอีกครั้งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ สร้างความไม่แน่นอนขึ้นมาต่อการลงทุนและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าที่ต้องรอความชัดเจนในต้นปีหน้า ก่อให้เกิดความกังวล ว่า เศรษฐกิจโลกจะซบเซาเหมือนช่วงทศวรรษ 1930 นอกจากนั้น นโยบายอเมริกาเฟิร์สท์ จะทำให้มีการเปลี่ยนระเบียบโลก (Global Order) สร้างความเสี่ยงต่อองค์กรระหว่างประเทศ อย่างเช่น WTO และ NATO ได้
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ขยายความว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตที่ 2.4% ช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อยที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% จากแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด เช่นกันกับส่งออกที่คาดว่าจะโตช้าลงจากผลกระทบสงครามการค้า ทั้งทางตรงผ่านตลาดส่งออกสหรัฐฯ และทางอ้อมผ่านตลาดอื่นๆ ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมาจากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่หดตัว สอดคล้องไปกับ FDIs ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังสูง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทยที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีนท่ามกลางขีดความสามารถที่ลดลง
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ในปี 2568 สถานการณ์อุตสาหกรรมไทย คงจะไม่ดีขึ้นได้มากนัก ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดัน ทั้งสงครามการค้าภายใต้ทรัมป์ 2.0 ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกและการผลิต มาตรการภาครัฐบางเรื่องที่อาจกระทบต้นทุน และประเด็นเชิงโครงสร้างที่ยังทำให้การใช้จ่ายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ขณะที่ กลุ่มที่ยังฟื้นได้ช้า จะเป็นธุรกิจขนาดกลางลงล่าง โดยมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตในธุรกิจรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ โลหะ แฟชั่น อาจลดลงอีก ส่วนในภาคการค้าและบริการ แม้จำนวนผู้ประกอบการอาจเพิ่มแต่การยืนระยะทางธุรกิจก็คงไม่ง่ายเช่นกัน
ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2568 คาดว่าจะยังเห็นสถานการณ์ที่แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยเติบโตช้าและต่ำ โดยมีอัตราการขยายตัวราว 0.6% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่ยังจะกดดันให้สินเชื่อรายย่อยยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพยังเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งฝั่งสินเชื่อรายย่อย รวมถึงฝั่งสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจ จากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของเครดิตบูโร (NCB) พบ 5 ประเด็นสำคัญ คือ
1. หนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด
2. ธุรกิจยิ่งเล็ก ปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง
3. สถาบันการเงินทุกประเภทที่ปล่อยสินเชื่อเผชิญผลกระทบด้านปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพชัดเจนขึ้น
4. การเจาะกลุ่มปัญหาหนี้เรื้อรัง คือ ธุรกิจบัญชีเดิมที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น
5. ประเภทธุรกิจหลักที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพเน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งค้าปลีก ที่พักและอาหาร และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ปัญหาอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง การแข่งขันรุนแรง และการฟื้นตัวของธุรกิจที่ไม่กระจายทั่วถึง รวมถึงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ชี้ว่าการสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของธุรกิจ จะเป็นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืน