เปิดผลสำรวจ “พ่อ” เสาหลักของบ้าน สูบบุหรี่เกือบ 40% สานพลังภาคี เร่งขับเคลื่อน “ครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” หวังปรับบทบาท “พ่อ…พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสร้างครอบครัวปลอดบุหรี่”
สสส. ห่วงเด็กเลียนแบบพฤติกรรมสิงห์อมควันตามพ่อ ชี้หากริลองบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงติดบุหรี่มวนเพิ่ม 5 เท่า สานพลังภาคี เร่งขับเคลื่อน “ครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” หวังปรับบทบาท “พ่อ…พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสร้างครอบครัวปลอดบุหรี่” “สส.ณัฐวุฒิ” เผย กมธ.เด็กฯ ชงข้อเสนอป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า 3 ด้าน มีกม.เข้มงวด-เฝ้าระวัง-ให้ความรู้อันตรายบุหรีไฟฟ้าแก้ครอบครัว สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ธ.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) โครงการครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้(สพร.) และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) จัดงานแถลงผลการสำรวจรับฟังความคิดเห็นหัวข้อ “พ่อ...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสร้างครอบครัวปลอดบุหรี่” ภายใต้โครงการครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องบทบาทของพ่อที่มีความสำคัญกับพฤติกรรม ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ภายในครอบครัว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ ถือเป็นปัญหาที่คงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มที่นักสูบจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มจากคนในครอบครัวโดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อ มีส่วนสำคัญส่งผลต่อเด็ก ที่อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ นำไปสู่การกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดควันมือสอง มือสาม ที่ส่งผลโดยตรงกับการเกิดปัญหาสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด และการติดเชื้อในหู และยับยั้งพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ดังนั้น สสส. จึงได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูบบุหรี่ในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก เยาวชนตั้งแต่ต้นทาง
“บุหรี่ไฟฟ้ากำลังสร้างปัญหาให้กับสังคมไทย นอกจากมีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่มวนแล้ว ยังมีโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และสารปรุงแต่งกลิ่นรสอีกกว่า 16000 ชนิด ที่ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลม และเส้นเลือดฝอยอักเสบ เพิ่มความเสี่ยงเสี่ยงโรคปอด หลอดเลือด หัวใจให้กับผู้ที่ได้รับควัน ที่สำคัญคือเกินกว่าครึ่งของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในไทย เป็นเยาวชน อายุ 15-24 ปี มีข้อมูลพบว่า เด็กและเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนถ้าเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 5 เท่า บุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนโดยตรง” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรม ความต้องการ ความคาดหวัง “พ่อ” ที่ส่งผลต่อการเลี้ยงดูบุตร หลานและความสัมพันธ์ในครอบครัวจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพ่อ และผู้ชายที่มีบทบาทในการรับผิดชอบเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 0-6 ปี อาทิ ปู่ ตา ลุง น้า อา พี่ จากกลุ่มตัวอย่างพ่อ 1159 คน ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบพ่อที่สูบบุหรี่ 461 คน คิดเป็น 39.8% กลุ่มอายุที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ 21-30 ปี รองลงมาคือ 31-40 ปี แบ่งเป็นบุหรี่มวน 356 คน คิดเป็น 77.22% บุหรี่ไฟฟ้า 57 คน คิดเป็น 12.36% และสูบทั้ง 2 ชนิด 48 คน คิดเป็น 10.42% โดยภาคใต้สูบบุหรี่มวนสูง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคตะวันออก ขณะที่ภาคที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุดคือ ภาคตะวันออก รองลงมาคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้
“มีพ่อที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ 228 คน คิดเป็น 20% สาเหตุที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้คือ มีลูกเป็นแรงจูงใจทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่มากถึง 88.16% และต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก 88.16% ส่วนกลุ่มที่ยังสูบอยู่ให้เหตุผลว่า ช่วยให้คลายเครียด และเคยชินกับการสูบ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้คือความเคยชิน และเครียดจากฐานะทางเศรษฐกิจ โดย 77.87% ของกลุ่มที่สูบบุหรี่ รู้ว่าการสูบบุหรี่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของลูกในอนาคต แม้จะยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ แต่มีความตั้งใจที่จะให้ความรู้และพูดคุยกับบุตรหลานเรื่องความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ต่อไป ทั้งนี้ ยังพบว่า พ่อมีความรู้ที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับน้ํายาและส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.วศิน กล่าว
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้ขับเคลื่อนนโยบายบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ผ่านคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบเรื่องบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า มีข้อเสนอหลัก 3 ส่วนคือ 1.ด้านกฎหมาย รัฐบาลต้องวางมาตรการด้านกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น 2.ด้านบริบทของคนที่เกี่ยวข้องต่อเด็ก ทั้งในโรงเรียนและชุมชน มีมาตรการเชิงเฝ้าระวังและป้องกัน 3.ด้านครอบครัว ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวและคนรอบตัวเด็กถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงไม่น้อยไปกว่าการสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดอื่นๆ เพราะเมื่อพูดถึงบทบาทในความเป็นพ่อ พ่อต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะต้นแบบที่ดีเริ่มจากในครอบครัว ทําให้เด็กได้เรียนรู้ว่าคนในครอบครัวไม่มีใครสูบบุหรี่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็หวังให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องผลกระทบการสูบบุหรี่ภายในบ้าน
นายอนุวัฒน์ เดชพรพงศ์ ตัวแทนพ่อผู้ที่เลิกบุหรี่เพื่อลูก ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า ตนเห็นพ่อสูบบุหรี่มาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มเป็นวัยรุ่นคิดว่าการสูบบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ใหญ่เลยทดลองสูบ และสูบต่อเนื่องมา 20 ปี ถึงแม้จะรู้ว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่เลิกไม่ได้ มีความพยายามเลิกบุหรี่มาหลายครั้งด้วยหลายวิธี แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งภรรยาตั้งครรภ์ จึงไม่ต้องการให้ควันบุหรี่ทำร้ายสุขภาพลูกและคนในครอบครัว จึงเกิดแรงบันดาลใจและสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เรียกได้ว่าลูกเป็นแรงบันดาลใจ เป็นเป้าหมายสำคัญที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ