KKP Research ชี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง ปรับ GDP ปี 2568 จาก 3.0% เหลือ 2.6% และเหลือ 2.4% ในปี 2569 คาดมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่ม

   เมื่อ : 29 พ.ย. 2567

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายนและภายนอก หากไม่ปรับตัวมีความเสี่ยงเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเท่าศักยภาพเดิมที่ 3.0% - 3.5% โดยไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตได้ช้าที่สุดในภูมิภาค ASEAN ในช่วงหลังวิกฤติโควิด KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.6% ในปี 2568 และเติบโตได้ 2.4% ในปี 2569 โดยเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงในปีหน้าเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาวไม่ว่าจะเป็น (1) ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ที่สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวลงต่อเนื่องมามากกว่าปีและยังมีความเสี่ยงชะลอตัวเพิ่มเติมโดยเฉพาะหากมีการปรับภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นจากสหรัฐ ฯ ซึ่งจะส่งกระทบเพิ่มเติมต่อภาคการส่งออกไทย (2) ภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ช้าลง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น (3) การหดตัวของสินเชื่อในภาคธนาคารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า และ (4) การเข้าสู่สังคมสูงอายุ กดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

3 ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มเผชิญกับการเติบโตต่ำจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่

 

1. ภาคบริการและการท่องเที่ยวจะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากเท่าเดิม: การท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงฟื้นตัวเริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัว ในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.2ppt เทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับเฉลี่ย 2.4% หรือการเติบโตเกือบทั้งหมดมาจากภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 2568-2569 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 6.9% ต่อปี ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวช่วงหลังการเปิดประเทศหลังโควิดที่โตได้กว่า 255%

 

2. ภาคการผลิตของไทยยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว: อุตสาหกรรมหลักของไทย คือ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดโลก ตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ที่ลดลงกว่า 14% จากปี 2564 จากการเข้ามาแข่งขันของรถยนต์ค่ายจีน โดยการหดตัวของภาคการผลิตไทยในปี 2567 เกิดจากการหดตัวของการผลิตรถยนต์เป็นหลักในขณะที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวในสินค้ากลุ่มอื่นบ้างแล้ว นอกจากนี้ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหน่วยความจำแบบ SSD เข้ามาแทนที่ ส่งผลให้การผลิต HDD ลดลงกว่า 50% ตั้งแต่ปี 2564

 

3. ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการลดลงของการปล่อยสินเชื่อใหม่: ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น โดยหนี้ต่อ GDP ของไทยเริ่มปรับตัวลดลงจากสินเชื่อภาคธนาคารที่เติบโตติดลบ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทนในไทยหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง

 

ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ 

จากอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซาและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินสดขนาดใหญ่ในปี 2567 และ 2568 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยพอขยายตัวต่อได้ โดยแบ่งเป็น ระยะที่ 1: งบประมาณ 142000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.7% ของ GDP) ถูกใช้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ผ่านการแจกเงินสด 10000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ระยะที่ 2: รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 184000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.9% ของ GDP) จะถูกแจกเป็นเงินสดให้กับผู้สูงอายุ 5-8 ล้านคนภายในเดือนมกราคม และระยะที่ 3: หลังจากสองระยะแรก ยังเหลืองบประมาณราว 100000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปแจกให้กับประชาชน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแจกเงินสดรอบใหม่ 

 

KKP Research คาดว่ามาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ สภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดจากธนาคาร และการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังล่าช้า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว

 

เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงโตได้ต่ำกว่าคาด 

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่าที่ประเมินว่าจากความเสี่ยงของนโยบายภาษีของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ มากเป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย โดยมีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ คิดเป็นประมาณ 9% ของ GDP และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ อเมริกามูลค่ากว่าสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 12 ของโลก และการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้ไทยมีความเสี่ยงถูกมาตรการการค้าเพิ่มเติมได้

 

อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าของสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก KKP ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าขนาดใหญ่มีแนวโน้มใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองด้านการค้าระหว่างประเทศโดยสินค้าในกลุม Rerouting ที่นำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไป US มีแนวโน้มได้รับผลกระทบก่อน เช่น Solar Panel Wifi Router ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากเพราะมูลค่าเพิ่มที่ถูกสร้างในประเทศอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบกับสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติม คือ  1) กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ หากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 10% กับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะกระทบสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร  ผลิตภัณฑ์ยาง  รถยนต์  2) กลุ่มสินค้าที่ไทยมีการคิดภาษีกับสหรัฐ ฯ สูงกว่าสหรัฐ ฯ คิดกับไทย  โดยสหรัฐ ฯ มีแนวโน้มต่อรองให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าบางกลุ่มกับสหรัฐ ฯ ลงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กระทบสินค้าในกลุ่มอาหารและภาคเกษตร ฯ    3) กลุ่มสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ในสถานการณ์ที่สหรัฐ ฯ ขึ้นภาษีกับประเทศจีนที่ 60% มากกว่าประเทศอื่น ๆ จะเป็นความเสี่ยงที่อาจเห็นสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาด ASEAN และไทยเพิ่มเติม สินค้าที่มีการขาดดุลเยอะในช่วงที่ผ่านมา คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์และชิ้นส่วน

 

แบงค์ชาติลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า

KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้งในปีหน้ามาที่ระดับ 1.5% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25% แม้ว่าแนวทางการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) จะมีท่าทีค่อนข้างเข้มงวด โดยเน้นย้ำว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่ผ่านมาเป็นการปรับสมดุลใหม่ (recalibration) ไม่ใช่การเริ่มต้นของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย  

 

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ และภาวะทางการเงินในปัจจุบันมีตึงตัว โดยเฉพาะจากสินเชื่อภาคธนาคารที่หดตัวจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

 

KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่า ในระหว่างปี 2558-2562 เมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่า 1% และการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 3-4% อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนั้นยังคงอยู่ที่ 1.5% อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเงินเฟ้อในปัจจุบันอ่อนแอพอๆกันกับช่วงปี 2558-2562 และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าในช่วงนั้นมาก แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันกลับสูงกว่าช่วงเวลาดังกล่าวมากซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอาจตึงตัวเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับเศรษฐกิจที่มีสัญญาณอ่อนแอลงและหนี้เสียที่เร่งตัวขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อธนาคารแห่งประเทศไทย