ก้าวสู่ปีที่ 21 กองทุน FTA ขยายความร่วมมือ MOU ผนึก 5 หน่วยงาน ขับเคลื่อนและพัฒนาขีดความสามารถช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

   เมื่อ : 08 ส.ค. 2567

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นร่วมกัน โดยลงนามร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ นายณะที ไกรลพ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

          

กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้จัดตั้งขึ้น เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยการปรับโครงสร้างการผลิต ปฏิรูปผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและอาหาร ตลอดจนการปรับเปลี่ยนอาชีพจากสินค้าที่ไม่มีศักยภาพไปสู่สินค้าที่มีศักยภาพ

 

สำหรับการลงนามความร่วมมือกันในวันนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2564 กองทุน FTA ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน และบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด โดยทั้ง 9 หน่วยงาน MOU ได้ร่วมขับเคลื่อนงานผ่านกลไกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดความร่วมมือที่สำคัญมากมาย ทำให้ สศก. โดยกองทุนฯ เห็นถึงความสำคัญในการมีหน่วยงานภาคีเครือข่าย จึงได้เชิญกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

 

ประกอบกับล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของกองทุนฯ ออกไปเป็นเวลา 20 ปี (ปี 2567 - ปี 2587) จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะผลักดันภารกิจกองทุนฯ และเดินหน้าขยายความร่วมมือ เพิ่มเติม โดยจับมือกับพันธมิตรใหม่อีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

 

“การลงนามครั้งนี้ นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจของกองทุนฯ ในปีที่ 21 ซึ่งมีการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาภาคเกษตรและยกระดับเกษตรกรไทย และในเดือนกันยายนนี้ จะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Project Matching Connecting Opportunities การพัฒนาเครือข่ายโครงการเกษตรพันธมิตร สู่โอกาสตลาดการค้าเสรี โดยกิจกรรมในครั้งนี้ จะมีตัวแทนจากหน่วยงานเครือข่าย MOU มาร่วมให้คำแนะนำเกษตรกร เพื่อสร้างโอกาสในการเสนอโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อให้มีโครงการเสนอขอรับเงินสนับสนุนมายังกองทุนฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับนานาประเทศ สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าว

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ