สสส. สานพลังเครือข่ายหมออนามัย ลงพื้นที่ อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เคาะประตูบ้านชวนนักดื่ม “หันมาตรวจตับ-เลิกจับขวด” คุณพ่อนักดื่มเปิดใจ พลิกวิกฤตไขมันพอกตับเป็นโอกาสเลิกดื่มปั๊บ คืนความสุขสู่ครอบครัว
วันที่ 17 ต.ค. 2567 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสี่แยกสวนป่า อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. พร้อมด้วยเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของชุมชนชวนคน ลด ละ เลิกเหล้า ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยมีการเจาะเลือดตรวจหาค่าเอนไซม์ตับ เสริมพลังและสร้างความรอบรู้แก่ผู้ดื่มให้ลด ละ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องในวันออกพรรษา
นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบคนไทยไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 5.73 ล้านคน เคยดื่มหนักใน 12 เดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 10.05% เป็นเพศชาย 5.05 ล้านคน และเพศหญิง 0.68 ล้านคน นักดื่มหนักส่วนใหญ่ 4.36 ล้านคน หรือ 7.65% ดื่มหนักเป็นครั้งคราวเท่านั้น (ดื่มน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยภาคเหนือมีนักดื่มหนักสูงที่สุดคือ 13.01% แบ่งเป็นนักดื่มหนักประจำ 2.51% และนักดื่มหนักเป็นครั้งคราว 10.50% ขณะที่ภาคใต้มีนักดื่มหนักต่ำที่สุดคือ 4.62% อย่างไรก็ตาม ทุกภาคมีแนวโน้มมีนักดื่มหน้าใหม่ที่เริ่มดื่มอายุน้อยลงใกล้เคียงกันเฉลี่ยอายุ 20.32 ปี โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 1677.23 บาทต่อเดือน โดยภาคใต้ มีค่าใช้จ่ายในการดื่มมากที่สุดคือ 1557.39 บาทต่อเดือน รองลงมาคือ ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) 1418.34 บาทต่อเดือน กรุงเทพฯ 1256.93 บาทต่อเดือน ภาคเหนือ 886.55 บาทต่อเดือน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 824.68 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
“สสส. ได้บูรณาการองค์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงหลัก และระบบบริการสุขภาพ โดยริเริ่ม “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน” ในปี 2566 ควบคู่กับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2567 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยมุ่งเน้นการตรวจเลือดเพื่อหาค่าเอนไซม์ตับ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนข้อมูลสุขภาพของนักดื่ม และให้ความรู้อันตรายของการดื่มให้แก่นักดื่มและประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ดร.บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยฯ กล่าวว่า โครงการมีการประเมินและคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AUDIT Score) ทุกพื้นที่ รวม 14161 คน พบเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการดื่มอยู่ในกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง (Hazardous Drinker) 4515 คน คิดเป็น 31.88% ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบ และได้เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงให้ตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ โดยมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3875 คน คิดเป็น 85.83% จากการตรวจเลือด ครั้งที่ 1 มีค่าเอนไซม์ตับผิดปกติ คือมีค่าเอนไซม์ตับเกิน 35 ยูนิต/ลิตร จำนวน 867 คน คิดเป็น 22.37% การตรวจเลือดครั้งที่ 2 ในช่วงก่อนเข้าพรรษาซึ่งห่างจากครั้งแรก 3 เดือน มีผลผิดปกติลดลงเหลือ 628 คน คิดเป็น 17.34% ผลจากตรวจค่าเอนไซม์ตับและกระบวนการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ จากการประเมิน AUDIT Score พบว่า ส่วนใหญ่ลด ละ การดื่ม โดยผู้ดื่มแบบติด (Alcohol depend) ลดลงจาก 16.31% เหลือ 13.83% และสามารถเลิกดื่มได้มากถึง 10% ซึ่งเครือข่ายหมออนามัย และสสส. รู้สึกภูมิใจและดีใจที่สามารถช่วยเหลือให้ประชาชนเลิกดื่มได้สำเร็จ
“ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะผ่านกระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วยกระบวนการและนวัตกรรมที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ โดยทีมหมออนามัยและเครือข่าย ในบางรายที่ผิดปกติมากจะปรึกษาและส่งพบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลในเครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อดูแลและรักษา โดยมีทีมสหวิชาชีพสุขภาพและ อสม. ติดตามเสริมพลังและเยี่ยมบ้าน ดูแลอย่างใกล้ชิด “ใกล้บ้านใกล้ใจ ห่วงใยสุขภาพ” เพื่อการลด ละ เลิกดื่มเหล้า ทั้งนี้จะมีการตรวจค่าเอนไซม์ตับและพฤติกรรมการดื่มอีกครั้งเมื่อครบ 3 เดือน” ดร.บุญเรือง กล่าว
นายอานนท์ ไหมจุ้ย แพทย์แผนไทย รพ.สต.บ้านสี่แยกส่วนป่า กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราชมีสถิติการดื่มในปี 2564 อยู่ที่ 21.40% ของประชากรในจังหวัด สำหรับพื้นที่ อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช พบการดื่มในกลุ่มวัยทำงาน และผู้นำชุมชน ส่วนใหญ่ดื่มเหล้า เบียร์ ยาดอง มักดื่มในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ดื่มเฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์ ในช่วงปี 2565-2566 ในกลุ่มกลุ่มวัยทำงาน และผู้นำชุมชน พบอัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น ผู้ป่วยได้รับผลกระทบเกิดความพิการ ติดบ้านติดเตียง เครือข่ายหมออนามัยและสสส. จึงได้ริเริ่มโครงการตรวจคัดกรองค่าตับในกลุ่มของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ โดยครั้งแรกมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 50 คน พบผู้เสี่ยงสูง 1 คน วัดค่าตับได้ 108 ยูนิต/ลิตร และมีผู้ตัดสินใจเลิกดื่มจริงจัง 2 คน ส่วนการตรวจครั้งที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 43 คน ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเลขค่าเอนไซม์ตับลดลง
นายอนันตชัย วัฒนพันธ์ อายุ 32 ปี ชุมชนบ้านสี่แยกสวนป่า ต.วันหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนมีอาชีพกรีดยาง ชอบดื่มสังสรรค์กับเพื่อนตั้งแต่เริ่มทำงานอายุ 20 ปี ดื่มบ่อย 4-5 ครั้งต่อเดือน ดื่มตั้งแต่หัวค่ำยันเช้าทุกรอบ ด้วยเป็นคนน้ำหนักตัวเยอะ 118 กก. จึงแจ้ง อสม. ขอเข้าร่วมโครงการเอนไซม์ตับ พบค่าเอนไซม์ตับพุ่งสูงถึง 108 ยูนิต/ลิตร อยู่ในกลุ่มสีแดง เสี่ยงที่จะเป็นตับอักเสบ รู้สึกตกใจมาก และถูกส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลทุ่งสง เพื่อเอกซเรย์ตับและปอด พบว่าเป็นไขมันพอกตับ จึงเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผลการตรวจครั้งที่ 2 ลดลงเหลือ 61 ยูนิต/ลิตร ถือว่าเกินเกณฑ์ และเริ่มหันมาวิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน คุมอาหาร และตั้งใจเลิกดื่มตลอดชีวิตเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ขอบคุณโครงการนี้ทำให้ตนกลับมามีสุขภาพดี มีความสุขกับลูก
นางสาวปัทมา หมื่นศรี อายุ 28 ปีชุมชนบ้านสี่แยกสวนป่า ต.วันหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ ตนดื่มหนักเกือบทุกวัน เริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 17 ปี แล้วมาดื่มหนัก ๆ ช่วงปี 2565-2566 ครั้งนี้ตัดสินใจเข้าตรวจหาค่าเอนไซม์ตับด้วยตัวเอง ครั้งแรกตรวจพบว่าค่าไอนไซม์ตับ 40 ยูนิต/ลิตร เจ้าหน้าที่ รพ.สต. แนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยอมรับว่าค่อนข้างตกใจที่เสี่ยงเป็นโรคตับอักเสบ และกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา จึงตัดสินใจเลิกดื่มทันที เพื่อนชวนไปสังสรรค์ก็ไม่ไป หลังเลิกดื่มร่างกายรู้สึกดีมากขึ้น ไม่มีอาการปวดหัวหรือเวียนหัวเลย ปัจจุบันตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ค่าเอนไซม์ตับลดเหลือ 23 ยูนิต/ลิตร โดยตนได้ไปชักชวนเพื่อน ๆ แถวบ้านให้มาร่วมโครงการด้วย เพราะถ้าดูแค่ภายนอกเราอาจดูแข็งแรงปกติ แต่ข้างในเราไม่รู้หรอกว่ามันมีโรคอื่นแฝงอยู่ที่มาจากพฤติกรรมการดื่ม