เครือ รพ. พญาไท-เปาโล ยืนหนึ่งสายสุขภาพคว้ารางวัล ”องค์กรนวัตกรรมดีเด่น 2567” เป็นครั้งที่ 2 สะท้อนความเป็นผู้นำแห่งนวัตกรรมสุขภาพยั่งยืน

   เมื่อ : 07 ต.ค. 2567

กรุงเทพฯ – เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ประกาศความสำเร็จอีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2567 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้ (ครั้งแรกเมื่อปี 2565) ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยมี นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล และ ดร. นิรุธ ศรีพวาทกุล ผู้อำนวยการสายพัฒนาคุณค่าธุรกิจและการเรียนรู้ เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เข้ารับโล่ประกาศ

 

เกียรติคุณจาก ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) รางวัลนี้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ สะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทในการส่งมอบบริการที่เป็นเลิศให้แก่ผู้ป่วยของเราทุกคน และความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย สร้างความเชื่อมั่นในระดับประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

ด้วยวิสัยทัศน์ของ นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ที่มักเน้นย้ำว่า “กุญแจสำคัญของความสำเร็จทั้งหมด มาจากการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และพัฒนา ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทุกคนคิดเก่ง คิดดี และทำได้จริง”

“การมี Mindset ที่ยึดถือแนวคิดการไม่หยุดพัฒนา ทำให้เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสบการณ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วย พร้อมพัฒนาบุคลากรให้เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งส่งผลให้เกิดผลงานนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งการแก้ปัญหาและการพัฒนาบริการทางการแพทย์ สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นแก่ผู้ป่วย จนเกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ในโรงพยาบาล”  

ผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นและได้รับการคัดเลือกในเวทีนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย แคมเปญ ‘Fight for Better’ โครงการ ‘All You Can Check’ และ ‘Healthy Together’ นวัตกรรมบริการ ‘คุณพระช่วย’ เทคโนโลยี AI EKG สำหรับการอ่านคลื่นหัวใจ และแอปพลิเคชัน Health Up

 

เหตุผลที่เลือก 6 นวัตกรรมนี้ เพราะเป็นโซลูชันที่แก้ปัญหาสุขภาพของลูกค้าได้จริงและสามารถขยายผลไปสู่ระบบสาธารณสุขในอนาคตได้อีกด้วย  

แคมเปญ “Fight for Better” มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยแนวคิด ‘Fight for Better’ ดีที่สุดไม่มี มีแต่ดีขึ้น ที่เชื่อว่าทุกอย่างสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกเสมอ เราจึงสนับสนุนให้พนักงานทุกระดับมีบทบาทเป็นนวัตกร และร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนางานในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองให้ดีขึ้นจนเกิดเป็นผลงานนวัตกรรม เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีด้านสุขภาพให้กับผู้ป่วย รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญขององค์กร โดยมีเวที The pPitch Awards ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้นำเสนอนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ Pain Point ของผู้ป่วย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับสังคม  

 

โปรแกรมตรวจสุขภาพ ‘All You Can Check’ ที่ออกแบบมาโดยเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) เพื่อมอนิเตอร์สุขภาพอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปี โดยปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน พร้อมวางแผนการดูแลสุขภาพอย่างตรงจุด โดยมีแพทย์ผู้ชำนาญการให้คำแนะนำ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โปรแกรมนี้ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสุขภาพพื้นฐานไปจนถึงการตรวจเจาะลึกคัดกรองความเสี่ยงเฉพาะด้าน เช่น CT Scan และ MRI โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นับเป็นมิติใหม่ของการดูแลสุขภาพที่เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ริเริ่มขึ้น

 

“Healthy Together” เป็นโครงการที่โรงพยาบาลเข้าไปร่วมสร้างวัฒนธรรมสุขภาพดีให้กับองค์กร โดยออกแบบโปรแกรม Let’s get healthy! (LGH) ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงานในเชิงลึกผ่านระบบดิจิทัล ครอบคลุมทั้งหมด 8 หมวด โดยผลการประเมินจะถูกวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากผลการตรวจสุขภาพและผลจากห้องปฏิบัติการต่างๆ 

หลังจากนั้น พนักงานจะถูกจัดกลุ่มตามระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพและคัดเลือกเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลเชิงป้องกัน (Health Promotion Program) เช่น คลินิกงดบุหรี่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดบุหรี่ คลินิกลดน้ำหนัก และการให้วัคซีนต่างๆ แก่กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก โปรแกรม LGH นี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดปัญหาการขาด ลา มาสาย ลดค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพของพนักงาน และส่งต่อคุณภาพและการบริการที่ดีให้กับลูกค้าของบริษัทได้อีกด้วย

โครงการ “คุณพระช่วย” (ทำงานได้บุญ) เป็นนวัตกรรมบริการที่มุ่งเน้นการดูแลและอุปัฏฐากพระสงฆ์อาพาธอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงการรักษา ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพพระภิกษุสงฆ์และสามเณรที่อาพาธ ภายใต้มาตรฐานวิชาชีพและหลักพระธรรมวินัยใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านการอุปัฏฐาก ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านบุคลากร โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ได้รับการรับรองในด้านนี้ และปัจจุบันได้ขยายการรับรองครอบคลุมถึง 6 แห่งในเครือโรงพยาบาลฯ เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในประเทศไทย

 

“AI EKG” ใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสุขภาพ เนื่องจากเรามีผู้มาตรวจสุขภาพปีละกว่าหนึ่งแสนคน เราใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้ AI เรียนรู้ ลดเวลาการทำงานของแพทย์ และสามารถขยายผลไปยังรถตรวจสุขภาพ รถพยาบาล หรือโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ โดยสามารถส่งผลตรวจไปยังศูนย์กลาง ในอนาคตเราหวังว่านวัตกรรมนี้จะสามารถนำไปใช้ในระบบประกันสังคม เพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลาการตรวจโรคหัวใจของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องตรวจโดยเครื่อง EKG ได้

สุดท้ายคือ “แอปพลิเคชัน Health Up” ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานจากเดิม 8 ฟังก์ชัน เป็น 17 ฟังก์ชัน และกำลังขยายไปยังส่วนของผู้ป่วยใน เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาพทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกัน การรักษา ไปจนถึงการฟื้นฟูสุขภาพ ‘Health Up’ ช่วยให้การใช้บริการด้านสุขภาพเป็นไปอย่างลื่นไหลไร้รอยต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ด้วยฟีเจอร์ Multiple Account ที่สามารถดูข้อมูลสุขภาพของทุกคนในครอบครัวผ่านโทรศัพท์เครื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นผลเลือด ประวัติการแพ้ยา ผลเอกซเรย์ หรือแม้กระทั่งตารางนัดหมายแพทย์ และในกรณีฉุกเฉินก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปที่โรงพยาบาลเดิมเพื่อขอข้อมูล แม้จะไม่ใช่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลเราก็ยังสามารถใช้แอปฯ ในการอ่านข้อมูลสุขภาพได้เช่นกัน

 

นอกจากที่กล่าวมา เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ยังร่วมพัฒนานวัตกรรมกับพันธมิตรภายนอก เช่น Start Up และมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เปิดกว้าง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงบทบาทความเป็นผู้นำในการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน ช่วยให้พวกเขากลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้ป่วยโดยตรงเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปถึงผู้ดูแลและคนรอบข้างอีกด้วย

 

เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล มีหน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมสามหน่วยหลัก ได้แก่ CPRIA (Center of Private Research and Innovation Accelerator) PIL (Phyathai Paolo Innovation Lab) และ CIL (Center of Interactive Learning) ที่ขับเคลื่อนตั้งแต่งานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรม พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรมีส่วนร่วม โดย PIL ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาแนวคิด ต้นแบบ และขยายผล พร้อมให้คำปรึกษาผ่าน PIL Hotline และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกเครือโรงพยาบาล